กิจกรรมฐานการเรียนรู้กระดาษสา : โครงการโรงเรียนปลอดขยะ Zero Waste School

          เนื่องจากในปัจจุบัน ได้มีการใช้กระดาษมากขึ้น ไม่ว่าจะการใช้กระดาษทำเอกสารของสำนักงานต่างๆ และใบความรู้ที่ครูอาจารย์แจกนักเรียน อีกทั้งจำพวกหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ ก็ล้วนแต่เป็นกระดาษด้วยกันทั้งสิ้น การใช้กระดาษเป็นปริมาณมาก ส่งผลกระทบให้ปริมาณกระดาษที่เหลือใช้นั้นมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

                กระดาษสาเป็นกระดาษชนิดหนึ่ง  ที่ทำมาจากต้นกระดาษสาซึ่งต้นปอสา เป็นพืชเส้นใยในตระกูลเดียวกับหม่อนและขนุนนิยมปลูกมากในภาคเหนือ  ต่อมาได้มีการนำกระดาษสามาจัดทำเป็นลวดลายและมีสีต่างๆ อย่างหลากหลาย  แล้วนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตัวอย่างเช่นกระดาษห่อของขวัญ ปกสมุดไดอารี่ ถุงกระดาษ ฯลฯ อีกทั้งในปัจจุบันกระดาษสานอกจากจะมีราคาแพงและมีความสวยงามแล้ว  ยังเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม  โรงเรียนระหานวิทยาจึงมีแนวคิดที่จะนำกระดาษเหลือใช้ที่มีเป็นจำนวนมากมาทำเป็นกระดาษสาเพื่อเป็นการลดปริมาณกระดาษที่เหลือใช้ และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับกระดาษเหล่านั้น

 

รายละเอียดการดำเนินงาน

          1. ประชุมคณะครูผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานกิจกรรมกระดาษสาจากกระดาษขยะ

          2. รับสมัครคณะทำงาน โดยมีเจ้าหน้าที่ ดังนี้

                   2.1 ครูที่ปรึกษากิจกรรม จำนวน 1 คน

                   2.2 เจ้าหน้าที่รับบริจาคขยะ จำนวน 2 คน

                   2.3 เจ้าหน้าที่แปรรูปขยะกระดาษเป็นกระดาษสา จำนวน 4 คน

                   2.4 เจ้าหน้าที่จดบันทึกจำนวน 1 คน

                   2.5 เจ้าหน้าที่คิดเงิน จำนวน 1 คน

                   2.6 เจ้าหน้าที่บัญชี จำนวน 1 คน

          3. คณะกรรมการมีการประชุมทุก ๆ ต้นเดือนเพื่อเตรียมงาน

          4. จัดเตรียมสถานที่รับบริจาคขยะกระดาษ

          5. ประชาสัมพันธ์กิจกรรม

          6. ดำเนินการตามแผนการดำเนินงาน

          7. ติดตามและประเมินผล

ขั้นตอนการทำกระดาษสา

ขั้นตอนที่  1  การเตรียมวัตถุดิบ
          คัดเลือกเปลือกปอสาที่อ่อนและแก่แยกจากกัน  นำไปแช่น้ำประมาณ  3  ชั่วโมงขึ้นไป แต่ไม่ควรเกิน  24  ชั่วโมง  การแช่น้ำจะช่วยให้เปลือกปอสาอ่อนตัว  จากนั้นนำไปใส่ภาชนะต้ม  ใส่โซดาไฟ หรือน้ำด่างจากขี้เถ้า  เพื่อช่วยให้โครงสร้างของเปลือกปอสาเปื่อย  และแยกจากกันเร็วขึ้น  ถ้าต้มปอสาอ่อนใช้โซดาไฟน้อย  ต้มเปลือกแก่ต้องใช้มากขึ้น การต้มแต่ละครั้งใช้โซดาไฟ  ประมาณ  10 - 15%  ของน้ำหนัก ถ้าใช้มากไปจะทำให้เยื่อถูกทำลายมากในระหว่างต้ม เมื่อต้มเสร็จแล้วนำปอสาล้างน้ำจนหมดด่าง
ขั้นตอนที่  2  การทำให้เป็นเยื่อ
         การทำให้เป็นเยื่อ  มี  2  วิธี ได้แก่
          2.1 การทุบด้วยมือ
          2.2 การใช้เครื่องตีเยื่อ
          การทุบด้วยมือต้องใช้เวลานาน  ปาสาหนัก  2  กก.  ใช้เวลาทุบนานประมาณ  5  ชั่วโมง ส่วนการใช้เครื่องตีเยื่อใช้เวลาประมาณ  35  นาที
          จากนั้นนำไปฟอกเยื่อกระดาษสาทั่วไปฟอกไม่ขาวนักแต่ถ้าต้องการให้กระดาษสาสี ขาวมาก ๆ  ก็ใช้ผงฟอกสีเข้าช่วย  ได้แก่  Sodium  hypo  chloride  หรือ Calcium hypo  chloride  ประมาณ  

1 : 10  โดยน้ำหนักผสมในเครื่องตีเยื่อ  ฟอกนานประมาณ  35  นาที ถ้าไม่มีเครื่องตีเยื่อ  ก็ใช้น้ำยาฟอกเข้มข้น  15  กรัมต่อน้ำ  1  ลิตร  แช่เยื่อลงในน้ำยาฟอกนานประมาณ  12  ชั่วโมง นำเยื่อไปล้างน้ำจนหมดกลิ่นน้ำยาแล้ว  จะนำเยื่อไปย้อมสีตามต้องการ  จากนั้นนำเยื่อเตรียมไว้สำหรับทำแผ่นกระดาษต่อไป
ขั้นตอนที่  3  การทำเป็นแผ่นกระดาษ
          นำเยื่อปอสาใส่ในอ่างหรือภาชนะที่เหมาะสม  ใส่น้ำให้มีระดับพอเหมาะแล้วใช้ไม้พายคนเยื่อในอ่างน้ำให้ทั่ว  เพื่อให้เยื่อลอยตัวและกระจายออกจากกันอย่างสม่ำเสมอ จากนั้นนำแม่พิมพ์สำหรับทำแผ่นกระดาษมาช้อนเยื่อต่อไปซึ่งมีการทำแผ่นได้  2  วิธีคือ
          3.1 แบบตัก  ใช้แม่พิมพ์ซึ่งมีลักษณะเป็นตะแกรงไนล่อนขนาดกว้าง  50  ซม.  ยาว  60 ซม.  ( ขนาดตะแกรงขึ้นอยู่กับขนาดกระดาษที่ต้องการ )  ช้อนตักเยื่อเข้าหาตัวยกตะแกรงขึ้นตรง ๆ แล้วเทน้ำออกไปทางด้านหน้าโดยเร็ว  จะช่วยให้กระดาษมีความสม่ำเสมอ
          3.2 แบบแตะ มักใช้ตะแกรงที่ทำจากผ้าใยบัวหรือผ้ามุ้ง  ซึ่งมีเนื้อละเอียดและใช้วิธีชั่งน้ำหนักของเยื่อ  เป็นตัวกำหนดความหนาของแผ่นกระดาษ  นำเยื่อใส่ในอ่างน้ำใช้มือแตะเกลี่ยกระจายเยื่อบนแม่พิมพ์ให้สม่ำเสมอ
ขั้นตอนที่  4  การลอกแผ่นกระดาษ
          นำตะแกรงไปตากแดดประมาณ  1 - 3  ชั่วโมง  กระดาษสาจะแห้งติดกันเป็นแผ่น จึงลอกกระดาษสาออกจากแม่พิมพ์  เปลือกปอสาหนัก  1 กก.  สามารถทำกระดาษสาได้ประมาณ 10  แผ่น และกระดาษสาที่ได้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง  มีการตัดแปลงมาใช้ทำสิ่งของต่าง ๆ มากขึ้น  แต่เดิมส่วนใหญ่ใช้ทำร่ม  ว่าว  กระดาษห่อของ  กระดาษแบบเสื้อ  กระดาษที่ใช้เขียนพุทธประวัติ คัมภีร์  ฯลฯ  เป็นต้น  ปัจจุบันนำมาใช้อย่างกว้างขวาง  เช่น  สมุดจดที่อยู่  เบอร์โทรศัพท์  กระดาษเขียนจดหมายพร้อมซองบัตรอวยพรต่าง ๆ ดอกไม้ประดิษฐ์  โคมไฟ  กระดาษเช็ดมือ  กระดาษชำระใช้ซับเลือด  กระดาษห่อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์  ก่อนนำไปฆ่าเชื้อโรค ฯลฯ  ทำให้กระดาษสาเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางมากขึ้นใน ปัจจุบันวิธีการทำกระดาษสา  ดังนี้
          4.1 เพียงนำเปลือกต้นปอสามาแช่น้ำทิ้งไว้ราว  6 – 8  ชั่วโมง  จากนั้นนำเปลือกที่แช่น้ำไปต้มรวมกับขี้เถ้าหรือโซดาไฟอีก  4 - 6  ชั่วโมง  จนกระทั่งเปื่อยยุ่ยดีแล้ว  นำไปแช่คลอรีน  6 - 8  ชั่วโมง
          4.2 ปอสาที่ผ่านขบวนการต้มแล้วนำมาทุบด้วยค้อนไม้ให้เส้นใยเปื่อยยุ่ยยิ่งขึ้น
          4.3 เมื่อปอสาเปื่อยยุ่ยดีแล้วนำไปแช่น้ำในถังซีเมนต์ขนาดใหญ่เพื่อใช้ตะแกรงตัก
          4.4 พักตะแกรงไว้เพื่อให้สะเด็ดน้ำ  ในขั้นตอนนี้อาจทำลวดลายเพิ่มโดยการนำดอกไม้  ใบไม้ไปแซมลงในกระดาษ
          4.5 นำตะแกรงกระดาษสาไปตากแดดจนแห้งสนิท  1  ตะแกรง  จะได้กระดาษ  1  แผ่น
          4.6 เมื่อแห้งดีแล้วลอกกระดาษสาออกจากตะแกรงทีละแผ่น            

ผลการดำเนินงาน

          1. นักเรียนโรงเรียนระหานวิทยามีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ และนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน

          2. นักเรียนแกนนำมีทักษะ เข้าใจ และรู้วิธีการทำกระดาษสา รวมไปถึงการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย

                   3. โรงเรียนเกิดการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จากการทดลองในการทำกระดาษสา บูรณาการกับวิชาสังคมศึกษาในกระบวนการของการบริหารจัดการกิจกรรมกระดาษสาจากขยะกระดาษ

ประโยชน์ที่ได้รับ

          1. สามารถนำกระดาษที่ใช้แล้วหรือกระดาษที่นำกลับมาใช้ใหม่ มาทำเป็นกระดาษสา เอาไปใช้ประโยชน์ได้ต่อ เช่น การนำไปทำสิ่งประดิษฐ์ ทำปกหนังสื่อ หรือตกแต่งห้องเรียน เป็นต้น

         2. ช่วยโรงเรียนลดปริมาณของขยะประเภท กระดาษ ต่างๆ ได้

         3. โรงเรียนมีฐานการเรียนรู้เพื่อให้ความรู้กับนักเรียน และผู้ที่สนใจในเรื่อง การทำกระดาษสา

กิจกรรมฐานการเรียนรู้กระดาษสา : โครงการโรงเรียนปลอดขยะ Zero Waste School